นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
บริษัทฯ ได้วางแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และเป็นไปตามหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ซึ่งได้จัดทำโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดี ณ วันที่จัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2566 (แบบ 56-1 One Report) ฉบับนี้ มีดังนี้
คณะกรรมการบริษัทฯ ประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยพัฒนาและกำหนดทิศทางธุรกิจ นโยบาย กลยุทธ์ของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน การบริหารความเสี่ยงและกระบวนการสอบทานเพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับและภายใต้การตัดสินใจที่สมเหตุสมผล
นอกจากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ จะจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ และ/หรือผู้บริหารในบริษัทในเครืออื่นของผู้บริหารแต่ละท่านด้วย
คณะกรรมการได้จัดทำและอนุมัติแนวทางการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการ (Board Governance Guidelines) ซึ่งแสดงถึงแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ ครอบคลุมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ ความเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ การพัฒนากรรมการ การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ รวมถึงแผนการสืบทอดตำแหน่ง ตามแนวปฏิบัติของบริษัทฯ ในปัจจุบันซึ่งมีความเหมาะสมกับธุรกิจของบริษัทฯ และเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.bsrc.co.th) แล้ว ดังนี้
จำนวนและองค์ประกอบของคณะกรรมการ
คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการและกรรมการอิสระที่มีความหลากหลายและมีจำนวนกรรมการและสัดส่วนของจำนวนกรรมการอิสระต่อจำนวนกรรมการทั้งหมดที่เหมาะสม อันจะส่งเสริมให้กรรมการแต่ละท่านมีส่วนร่วมในการหารือได้อย่างเต็มที่และมีประโยชน์ โดยปกติแล้ว คณะกรรมการจะประกอบด้วยกรรมการจำนวนสิบถึงสิบสามท่าน โดยกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดจะเป็นกรรมการอิสระ
กรรมการอิสระ
คณะกรรมการจะประกอบด้วยกรรมการอิสระที่มีคุณสมบัติการเป็นกรรมการอิสระตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยทั่วไปแล้ว กรรมการอิสระจะไม่มีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญกับบริษัทฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
กรรมการที่เป็นพนักงาน
คณะกรรมการอาจจะประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้บริหารของบริษัทฯ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจในแต่ละส่วนธุรกิจ โดยกรรมการที่เป็นพนักงานจะอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันกับกรรมการอิสระไม่ว่าจะในเรื่องที่เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการ การเลือกตั้งกรรมการมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ และพันธสัญญาในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ
การเลือกตั้งกรรมการ
ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวน 1 ใน 3 ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม กรรมการจะได้รับเลือกจากมติเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ทั้งที่มาประชุมด้วยตนเองและโดยการมอบฉันทะ ในกรณีที่กรรมการลาออกก่อนครบวาระ คณะกรรมการสามารถแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ลาออก ลดจำนวนคณะกรรมการ หรือกระทำการใดที่เหมาะสมภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับและข้อบังคับของบริษัทฯ
ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ
บริษัทฯ ได้แยกประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารออกจากกันสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ
คณะกรรมการเชื่อว่า ประสบการณ์ของกรรมการแต่ละท่านนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลและกำกับกิจการของบริษัทฯ ที่มีขนาดใหญ่และมีการประกอบธุรกิจหลากหลายด้าน ดังนั้น คณะกรรมการจึงมิได้กำหนดโดยจำกัดจำนวนวาระในการดำรงตำแหน่งของกรรมการหรืออายุเกษียณของกรรมการ คุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งกรรมการจึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์การทำงาน ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงาน ผลงาน และความสามารถในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ในการเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการเพื่อเสนอต่อผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีนั้น คณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และประเมินผลงานและคณะกรรมการจะประเมินผลงานและความสามารถของกรรมการแต่ละท่านเป็นกรณีไป รวมทั้งความเป็นอิสระของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการอิสระแต่ละท่านด้วย
การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่น
กรรมการแต่ละท่านจำเป็นที่จะต้องให้เวลาที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น กรรมการของบริษัทฯ อาจดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทอื่นได้ ตราบเท่าที่คณะกรรมการเห็นว่า การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม กรรมการควรจะดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่นรวมแล้วไม่เกิน 5 แห่ง ทั้งนี้ ประธานกรรมการจะสอบทานการดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นของกรรมการทุกท่านอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ กรรมการแต่ละท่านจะหารือกับประธานกรรมการก่อนที่จะตกลงรับการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทอื่นเพิ่มเติม
การคัดเลือกกรรมการ
คณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และประเมินผลงาน จะเสนอชื่อผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการต่อคณะกรรมการเพื่อให้คณะกรรมการเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ารับการเลือกตั้งกรรมการในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี รวมถึงเลือกกรรมการแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลงเนื่องจากการลาออกในระหว่างปี
คุณสมบัติของกรรมการ
ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทฯ จะต้องเป็นบุคคลที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการบริหารงานธุรกิจขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงาน มีความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพหรือวิทยาศาสตร์ และสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนโดยเฉพาะการบริหารงานบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจระหว่างประเทศ ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทฯ จะต้องไม่มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวกับผู้บริหาร หรือมีความสัมพันธ์กับบริษัทที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจที่เป็นอิสระ และจะต้องสามารถปฏิบัติงานเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนโดยไม่เอนเอียงผลประโยชน์ไปให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง
คณะกรรมการเชื่อว่ากรรมการจะต้องสามารถดำรงตำแหน่งได้เป็น
ระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ จะต้องสามารถปฏิบัติงานด้วยความซื่อตรง โดยอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความกระตือรือร้นในการทำงาน และสามารถวิเคราะห์ผลลัพธ์ของการทำงานของคณะกรรมการ อีกทั้งต้องสามารถให้เวลาที่เพียงพอในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน บริษัทฯ เชื่อว่าความแข็งแกร่งของคณะกรรมการขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคณะกรรมการที่มีความหลากหลายโดยมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานเพื่อความสำเร็จของบริษัทฯ และประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ รวมทั้งความสามารถในการทำงานร่วมกัน บริษัทฯ สรรหากรรมการเพื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการจากบุคคลที่มีประสบการณ์หลากหลาย เพื่อให้มั่นใจว่าประสบการณ์ของแต่ละท่านนั้น จะส่งเสริมการทำงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ประสบการณ์เหล่านี้อาจประกอบไปด้วยประสบการณ์ทางด้านอุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการกลั่น ธุรกิจด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี การเงิน และความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น
การปฐมนิเทศ
บริษัทฯ จะจัดการปฐมนิเทศให้แก่กรรมการที่มิได้เป็นพนักงานเพื่อให้กรรมการเข้าใจถึงธุรกิจและการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัทฯ
การประชุมคณะกรรมการ
โดยปกติ คณะกรรมการจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการปีละ 5 ถึง 7 ครั้ง และอาจมีการประชุมคณะกรรมการเพิ่มเติมหากจำเป็น
วาระการประชุมคณะกรรมการและเอกสารประกอบการประชุม
บริษัทฯ จะจัดส่งวาระการประชุมของการประชุมคณะกรรมการแต่ละครั้งให้แก่กรรมการแต่ละท่านไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนการประชุม และจะจัดส่งเอกสารประกอบการประชุมให้แก่กรรมการแต่ละท่านก่อนการประชุมอย่างน้อย 2 วันทำการก่อนการประชุม ประธานกรรมการ ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหารท่านอื่นตามจำเป็น และ เลขานุการบริษัท จะเป็นผู้กำหนดวาระการประชุม ซึ่งวาระการประชุมจะสอดคล้องกับร่างวาระการประชุมคณะกรรมการที่กำหนดไว้ทั้งปีที่ได้นำเสนอให้คณะกรรมการรับทราบก่อนสิ้นปีของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ กรรมการทุกท่านสามารถเสนอวาระในการประชุมได้
การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ
คณะกรรมการคาดหวังให้กรรมการแต่ละท่านใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการและการประชุมคณะกรรมการชุดย่อยทุกครั้งโดยการปรากฏตัวในสถานที่ประชุม อย่างไรก็ตาม กรรมการอาจเข้าร่วมประชุมผ่านทางโทรศัพท์ได้หากมีเหตุจำเป็นภายใต้กฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ในกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอน องค์ประชุม และการออกเสียงลงคะแนน
การเตรียมความพร้อมในการประชุมของกรรมการ
กรรมการแต่ละท่านควรต้องทบทวนวาระการประชุมและเอกสารประกอบการประชุมก่อนเข้าร่วมประชุม และเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมประชุมและหารือในวาระต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล
การเก็บความลับ
กระบวนการและหัวข้อที่หารือในการประชุมคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อยถือเป็นความลับ กรรมการแต่ละท่านจะต้องเก็บข้อมูลที่ได้รับจากการดำรงตำแหน่งกรรมการไว้เป็นความลับ ซึ่งรวมถึงการหารือและข้อมูลที่เกี่ยวกับคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อย
กรรมการจะทำการประเมินผลงานและประสิทธิผลของการทำงานด้วยตนเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยที่คณะกรรมการเห็นว่าจำเป็นหรือเหมาะสม ปัจจุบันบริษัทฯ มีคณะกรรมการชุดย่อย คือคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และประเมินผลงาน และคณะกรรมการกำกับดูแล ความยั่งยืน และ บรรษัทภิบาล
โครงสร้างของคณะกรรมการชุดย่อย
คณะกรรมการตรวจสอบจะประกอบด้วยกรรมการอิสระเท่านั้น ส่วนคณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และประเมินผลงานจะประกอบไปด้วยกรรมการและกรรมการอิสระ โดยสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นกรรมการอิสระ และคณะกรรมการกำกับดูแล ความยั่งยืน และบรรษัทภิบาลจะประกอบไปด้วยกรรมการและกรรมการอิสระ โดยสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นกรรมการ
คณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และประเมินผลงานจะร่วมกับคณะกรรมการประเมินผลงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารในส่วนที่เกี่ยวกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
คณะกรรมการจะดูแลแผนสืบทอดตำแหน่งเพื่อเป็นการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทุก 2 ปี แผนการสืบทอดตำแหน่งจะกล่าวถึงการสืบทอดตำแหน่งในกรณีการประกอบธุรกิจปกติของบริษัทและในกรณีฉุกเฉิน หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายด้วย
บริษัทฯ ได้นำมาตรฐานการดำเนินธุรกิจมาใช้ โดยกรรมการแต่ละท่านจะต้องทำความคุ้นเคยและปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้เช่นเดียวกันกับการปฏิบัติตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการบริษัท เลขานุการบริษัท และผู้จัดการบัญชีจะสอบทานประเด็นต่างๆ ที่เกิดจากมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของผู้บริหารหรือกรรมการและจะรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้ คณะกรรมการไม่สามารถให้มีการอนุมัติผ่อนผันเรื่องดังกล่าวได้
คณะกรรมการโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และประเมินผลงาน จะทำหน้าที่เสนอจำนวนค่าตอบแทนกรรมการต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น หรือที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) เพื่อพิจารณาอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2/3 ของผู้ถือหุ้นที่มาเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ค่าตอบแทนกรรมการจะมีจำนวนสอดคล้องกับค่าตอบแทนกรรมการในตลาดโดยคำนึงถึงขนาดและขอบเขตธุรกิจของบริษัทและความรับผิดชอบของกรรมการ
กรรมการของบริษัทฯ จะได้รับการรายงานเกี่ยวกับการดำเนินงานและการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ บริษัทฯ จะสนับสนุนให้กรรมการที่ดำรงตำแหน่งได้เพิ่มพูนความรู้และพัฒนาตนเอง โดยเข้าร่วมหลักสูตรการอบรมที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักสูตรต่างๆ ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors Association) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (Thai Listed Companies Association)
บริษัทฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นจะแต่งตั้งผู้แทนไปร่วมประชุมในที่ประชุมของบริษัทย่อยและผู้แทนของบริษัทมีหน้าที่ในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นตามที่บริษัทฯ ได้ให้หลักการหรือแนวทางไว้ โดยบริษัทฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ เว้นแต่สิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการรับเงินปันผล หรือสิทธิในการเสนอชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการตามที่ข้อบังคับของบริษัทย่อยนั้นๆ จะได้ระบุไว้ และที่ผ่านมาบริษัทฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นได้แต่งตั้งพนักงานของบริษัทฯ เป็นกรรมการ และกรรมการผู้จัดการในบริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ กรรมการของบริษัทดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ โดยเป็นไปตามนโยบาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัทฯ และตามมติของคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น ตลอดจนกฎหมายที่ใช้บังคับ
นโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัทฯ ยอมรับสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกคนซึ่งครอบคลุมสิทธิในการซื้อขายหรือโอนหุ้นอย่างเป็นอิสระ การเข้าร่วมประชุม การแสดงความคิดเห็น การเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระการประชุมผู้ถือหุ้น การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ และการใช้สิทธิออกเสียง ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการแต่งตั้งหรือการถอดถอนกรรมการ ค่าตอบแทนกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี จำนวนเงินค่าสอบบัญชี การประกาศจ่ายเงินปันผล การกำหนดหรือการแก้ไขข้อบังคับ และหนังสือบริคณห์สนธิ การลดทุนหรือเพิ่มทุน และการอนุมัติรายการพิเศษที่ต้องใช้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการอนุมัติ เป็นต้น
ผู้ถือหุ้นจะได้รับข้อมูลประกอบวาระการประชุมที่เสนอ สำหรับการออกเสียงลงคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้นแต่ละครั้งอย่างเพียงพอตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตัดสินใจใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ
- ในเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการ บริษัทฯ จะได้จัดให้มีข้อมูลเบื้องต้นของบุคคลที่เสนอแต่งตั้ง ซึ่งรวมถึงการศึกษา ประสบการณ์ การดำรงตำแหน่งในกิจการอื่น
- ในเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาค่าตอบแทนกรรมการ บริษัทฯ จะได้จัดให้ผู้ถือหุ้นได้รับข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบและจำนวนค่าตอบแทนที่เสนอเพื่อขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
- ในเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดจำนวนเงินค่าสอบบัญชี บริษัทฯ จะได้จัดให้ผู้ถือหุ้นได้รับข้อมูลเกี่ยวกับชื่อผู้สอบบัญชีที่นำเสนอและชื่อสำนักงานสอบบัญชี ค่าสอบบัญชีที่เสนอ จำนวนปีที่ทำหน้าที่ให้บริษัทฯ (ในกรณีที่เป็นการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีคนเดิม)
- ในเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผล บริษัทฯ จะได้จัดให้มีคำอธิบายโดยย่อเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องการจ่ายเงินปันผลที่เสนอ
- ในเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องสำคัญๆ ของบริษัทฯ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มทุน การลดทุน การแก้ไขข้อบังคับ การขาย เลิก หรือโอนกิจการหลักของบริษัทฯ การควบรวมกิจการ บริษัทฯ จะได้จัดให้มีข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของเรื่องที่เสนอ รวมถึงผลกระทบต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นด้วย
ทั้งนี้ นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว บริษัทฯ จะสนับสนุนโดยจัดให้มีความเห็นของคณะกรรมการเพื่อนำไปใช้ประกอบกับวาระที่สำคัญแต่ละวาระ เพื่อช่วยให้ผู้ถือหุ้นตัดสินใจลงมติได้ บริษัทฯ จะปฏิบัติตามข้อกำหนดที่กำหนดในข้อบังคับของบริษัทฯ และกฎหมายที่ใช้บังคับในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงบริษัทฯ ได้เผยแพร่หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นฉบับสมบูรณ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันประชุม รวมถึงข้อปฏิบัติในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวและวาระการประชุมต่างๆ ล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด
บริษัทฯ จะเปิดโอกาสอย่างเหมาะสมให้ผู้ถือหุ้นได้แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามในที่ประชุม โดยจะมีผู้บริหารที่มีความรู้และเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อตอบคำถามในที่ประชุม และจะได้มีการจัดทำรายงานการประชุมอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการบันทึกรายชื่อกรรมการและผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุม สรุปคำถามที่สำคัญ คำอธิบายและคำชี้แจงที่ให้ไว้ ข้อคิดเห็นที่สำคัญที่มีการเสนอ วิธีการลงคะแนนและนับคะแนน มติที่ประชุมซึ่งแยกเป็นคะแนนที่เห็นด้วย คะแนนที่ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง เป็นต้น
บริษัทฯ ยังอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นซึ่งรวมถึงนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น โดยหากเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นทางกายภาพ บริษัทฯ จะเลือกสถานที่จัดการประชุมที่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าถึงเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถเดินทางเข้าร่วมประชุมได้อย่างสะดวก และหากเป็นการประชุมแบบอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทฯ จะใช้บริการการจัดประชุมผู้ถือหุ้นอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการซึ่งเป็นบริษัทในเครือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ใช้ระบบ E-AGM ที่ผ่านมาตรฐานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ในกรณีที่มีการมอบฉันทะ บริษัทฯ สนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนักลงทุนสถาบันส่งเอกสารการลงทะเบียนการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นที่ได้ถูกจัดทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นรวมทั้งเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมายังบริษัทฯ ล่วงหน้าก่อนวันประชุม สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นทางกายภาพ บริษัทฯ ได้จัดให้มีการใช้ระบบบาร์โค้ด (Barcode) ในการลงทะเบียนและการนับคะแนนเสียงเพื่อความรวดเร็วและได้จัดเตรียมอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ถือหุ้นในการมอบฉันทะอีกด้วย
บริษัทฯ มีนโยบายเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ เป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ (Standards of Business Conduct) โดยทั่วไปแล้วนโยบายดังกล่าวกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ หลีกเลี่ยงมิให้เกิดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลดังกล่าวกับผลประโยชน์ของบริษัทฯ โดยการขัดกันนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานกระทำการอย่างใดๆ หรือมีผลประโยชน์ส่วนตัวอันขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์และการปฏิบัติหน้าที่เพื่อบริษัทฯ ตัวอย่างเช่น การที่กรรมการ ผู้บริหาร และบริษัทฯ คาดหมายให้พนักงานหลีกเลี่ยงการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในการทำธุรกิจกับผู้ส่งสินค้า ลูกค้า คู่แข่ง หรือบุคคลอื่น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคาดหมายให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ละเว้นจากการหาผลประโยชน์ให้ตนเองโดยใช้โอกาสที่ได้มาจากทรัพย์สินของบริษัทฯ หรือจากการดำรงตำแหน่งภายในบริษัทฯ และการซื้อขายหลักทรัพย์โดยการอาศัยข้อมูลภายในซึ่งมิได้เป็นข้อมูลสาธารณะที่กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานดังกล่าวได้มาโดยการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในบริษัทฯ ด้วย ทั้งนี้ ในด้านการกำกับดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายในนั้นบริษัทฯ จะดำเนินการดังต่อไปนี้
- ให้ความรู้แก่ผู้บริหารของบริษัทฯ เกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารในการรายงานการถือหุ้นของบริษัทฯ และบทลงโทษในกรณีไม่เปิดเผยข้อมูลภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารของบริษัทฯ เกี่ยวกับการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นของบริษัทฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
- ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารของบริษัทฯ เกี่ยวกับการนำข้อมูลของบริษัทฯ ไปใช้อันอาจจะส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทฯ ทั้งนี้ ในช่วง 1 เดือนก่อนที่จะมีการเปิดเผยงบการเงินของบริษัทฯ (รวมถึงงบการเงินรายไตรมาส) บริษัทฯ จะทำการห้ามพนักงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญก่อนการเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และคณะกรรมการของบริษัท
- ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหน้าที่ รวมถึงคู่สมรส และผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว ใช้ข้อมูลของบริษัทฯ เพื่อขาย ซื้อ โอน หรือรับโอนหุ้นของบริษัทฯ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน การใช้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายที่ใช้บังคับ และพนักงานที่ละเมิดอาจถูกบริษัทฯ ลงโทษทางวินัย
- ภายในเดือนมกราคมของทุกปี บริษัทฯ ส่งหนังสือเวียนเพื่อให้ความรู้แก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานและเตือนให้พนักงานทุกคนทราบว่าบริษัทฯ ห้ามพนักงานที่เข้าถึงข้อมูลภายในตามที่บริษัทฯ ได้ให้คำจำกัดความไว้ทำการซื้อ ขาย หรือเกี่ยวข้องกับธุรกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ของบริษัทฯ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อบุคคลอื่น
บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญต่อสิทธิตามกฎหมายของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ เช่น พนักงานและผู้บริหารของบริษัทฯ และบริษัทในเครือของบริษัทฯ ตลอดจนผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงพันธสัญญากับบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน หรือชุมชน โดยบริษัทฯ จะปฏิบัติตามภาระหน้าที่ผูกพันดังกล่าว ปฏิบัติตามระเบียบและกฎเกณฑ์ทั้งมวลที่ใช้กับธุรกิจการค้าของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจัดให้มีมาตรการในการแจ้งเบาะแสต่อคณะกรรมการ และ/หรือบริษัทฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย ความไม่ถูกต้องของรายงานทางการเงิน ความบกพร่องของระบบการควบคุมภายใน หรือการกระทำผิดจรรยาบรรณ ตามรายละเอียดที่ระบุในหัวข้อ “จรรยาบรรณธุรกิจ-การแจ้งเบาะแส” (หน้า 110)
บริษัทฯ ตระหนักดีว่าชุมชนและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญกับการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงมีนโยบายในการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงการให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมของประเทศและของท้องถิ่นนั้นๆ สิ่งสำคัญเหนือวัตถุประสงค์อื่นใด ก็คือ บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้วยความปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ คาดหมายให้พนักงานทั้งหมดในองค์กรปฏิบัติตามมาตรฐานความซื่อตรงของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะไม่ยอมรับพนักงานผู้ที่ได้ผลงานมาโดยการละเมิดกฎหมายหรือนโยบายของบริษัทฯ หรือโดยการกระทำที่ไร้จรรยาบรรณ กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ สนับสนุน และคาดหมายให้พนักงานแต่ละคนให้กำลังใจและยกย่องเพื่อนพนักงานที่ปฏิเสธการรับผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง เพื่อดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานทางจรรยาบรรณของบริษัทฯ
นโยบายของบริษัทฯ ที่ยึดถือตลอดมากล่าวว่า ธุรกรรมทุกอย่างจะต้องถูกบันทึกอย่างถูกต้องลงในเอกสารบันทึกและสมุดบัญชี ซึ่งหมายความว่า การลงข้อความไม่ตรงตามที่เป็นจริงในสมุดบัญชีและเอกสารบันทึกต่างๆ หรือการเปิดบัญชีธนาคารหรือการมีบัญชีธนาคารไว้แต่ไม่ลงบันทึกในสมุดบัญชีของบริษัทฯ เป็นเรื่องที่ห้ามกระทำอย่างเด็ดขาด โดยบริษัทฯ คาดหมายให้พนักงานของบริษัทฯ ทำการจดบันทึกการดำเนินงานอย่างถูกต้องในบันทึกและสมุดบัญชีของบริษัทฯ และมีความซื่อตรง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีนโยบายที่ต้องการให้ข้อมูลที่เปิดเผยในรายงานหรือเอกสารที่บริษัทฯ ส่งให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่มีอำนาจควบคุม ตลอดจนการสื่อสารต่อสาธารณชน
ให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ถูกต้อง เหมาะสม ตรงตามเวลา และสามารถเข้าใจได้ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นตามที่กฎหมายใช้บังคับกำหนดไว้ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รายงานข้อมูลเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญตามกฎระเบียบถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังได้เผยแพร่งบการเงิน รายงานเกี่ยวกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงาน ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ในเว็บไซต์ของทางบริษัทฯ (www.bsrc.co.th) ด้วยอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ พนักงานทุกคนยังมีหน้าที่ที่จะต้องรายงานข้อมูลที่มีสาระสำคัญซึ่งตนได้ทราบมาต่อผู้บริหารเพื่อให้ผู้บริหารสามารถใช้ในการพิจารณาตัดสินใจในการเปิดเผยข้อมูลได้
อนึ่ง บริษัทฯ ได้จัดให้มีนักลงทุนสัมพันธ์เพื่อสื่อสารและให้ข้อมูลกับผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ทางการเงิน หรือผู้เกี่ยวข้องทั่วไป ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิเช่น เว็บไซต์ของบริษัทฯ การประชุมรายไตรมาสกับนักวิเคราะห์ทางการเงิน การประชุมกับนักลงทุน อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์
วิธีการติดต่อแผนกนักลงทุนสัมพันธ์
โทร: 033 142 244
อีเมล: bsrcir@bangchak.co.th
มาตรฐานจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ
บริษัทฯ มีคู่มือกำหนดมาตรฐานจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ (Standards of Business Conduct) ที่ใช้มาอย่างยาวนาน ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวนโยบายอันเป็นฐานรากและแนวทางปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องกับจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานและดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วนในองค์กร โดยกรรมการ เจ้าหน้าที่ พนักงานทุกระดับชั้นของบริษัทฯ ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานการดำเนินธุรกิจนี้อย่างเคร่งครัด โดยไม่มีข้อยกเว้น
นโยบายหลัก 22 ประการของมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ประกอบด้วย
- นโยบายจรรยาบรรณทางธุรกิจ
- นโยบายเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์
- นโยบายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทฯ
- นโยบายเกี่ยวกับการเป็นกรรมการในบริษัทอื่น
- นโยบายเกี่ยวกับการให้หรือรับของขวัญและการเลี้ยงรับรอง
- นโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน
- นโยบายเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง
- นโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานระหว่างประเทศ
- นโยบายต่อต้านการผูกขาด
- นโยบายเกี่ยวกับเรื่องสุขอนามัย
- นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
- นโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัย
- นโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ
- นโยบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับลูกค้าและคุณภาพสินค้า
- นโยบายเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติด
- นโยบายเกี่ยวกับการให้โอกาสในการจ้างงานอย่างเท่าเทียมกัน
- นโยบายเกี่ยวกับการคุกคามผู้อื่นในสถานที่ปฏิบัติงาน
- นโยบายการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม
- นโยบายการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และการไม่ทำลายพื้นที่ป่า
- นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- นโยบายการบริหารความเสี่ยงทั้งองค์กร
- นโยบายการบริหารด้านพลังงาน
แม้ว่านโยบายหลักของบริษัทจะครอบคลุมไปในหลายเรื่อง เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความซื่อตรง และความมีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจนับเป็นหลักการพื้นฐานของทุกข้อนโยบายข้างต้นอย่างไม่มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องมาตรฐานอันเข้มงวดในเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชัน ซึ่งสะท้อนอยู่ในนโยบายต่างๆ ของบริษัทฯ อันได้แก่ นโยบายจรรยาบรรณทางธุรกิจ นโยบายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ นโยบายการเป็นกรรมการในบริษัทอื่น นโยบายการให้หรือรับของขวัญและการเลี้ยงรับรอง และนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน
นโยบายของบริษัทฯ ไม่เพียงแต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น นโยบายจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัทฯ ยังครอบคลุมไปถึงการต้องเลือกใช้วิถีทางอันแสดงความซื่อสัตย์และตรงไปตรงมาอย่างถึงที่สุด แม้ว่าการกระทำบางอย่างนั้นอาจไม่ผิด และ/หรือไม่มีข้อห้ามตามกฎหมาย บริษัทฯ คาดหมายให้พนักงานทั้งหมดในองค์กรปฏิบัติตามนโยบายที่ระบุในมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยเคร่งครัด และจะไม่ยอมรับพนักงานที่ได้ผลงานมาโดยใช้วิธีการ การกระทำที่ละเมิดกฎหมาย หรือวิธีการอันขัดต่อหลักจรรยาบรรณทางธุรกิจ กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ สนับสนุนและคาดหมายให้พนักงานทุกคนสนับสนุนการปฏิเสธการรับผลประโยชน์หรือโอกาสการรับผลประโยชน์อันไม่ควร เพื่อดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมของบริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานทุกคนต้องทบทวนและยืนยันว่าได้รับทราบ เข้าใจ และได้ปฏิบัติตามนโยบายภายใต้มาตรฐานการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานเป็นประจำทุกปี
บริษัทฯ มีนโยบายตลอดมาว่า ธุรกรรมทุกอย่างจะต้องมีการบันทึกและลงบัญชีอย่างถูกต้อง การกล่าวเช่นนี้หมายความว่า การบันทึกและลงบัญชีอันขัดต่อข้อเท็จจริงถือเป็นการปลอมแปลงเอกสาร การเปิดบัญชีธนาคารหรือมีบัญชีธนาคารไว้แต่ไม่ลงบันทึกในบัญชีของบริษัทฯ เป็นเรื่องที่ห้ามกระทำอย่างเด็ดขาด พนักงานมีหน้าที่ต้องทำการบันทึกและลงบัญชีธุรกรรมการดำเนินงานทุกรายการตามข้อเท็จจริงให้ถูกต้องในบัญชีบริษัทฯ และต้องมีความซื่อตรง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบจากทั้งฝ่ายตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชีอิสระภายนอก
บริษัทฯ คาดหวังความตรงไปตรงมาและการยึดถือปฏิบัติตามนโยบาย และระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ จากพนักงานทุกระดับชั้น อันตรายจากการที่พนักงานปกปิดเรื่องราวข้อมูลต่อฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตรวจสอบภายในคือการทำให้พนักงานอื่นเข้าใจว่านโยบายมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เป็นสิ่งที่ละเลยได้เมื่อไม่สะดวกที่จะปฏิบัติตาม ทัศนคติเช่นนี้จะยังผลให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันและนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่บริษัทฯ โดยรวม ระบบการบริหารของบริษัทฯ จะดำเนินไปไม่ได้หากปราศจากความซื่อตรงในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกบัญชี การจัดทำงบประมาณ และการประเมินผลความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการต่างๆ แม้ว่าแต่ละสังคมอาจมีวัฒนธรรมและวิธีปฏิบัติอันแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ความซื่อสัตย์สุจริตซื่อตรงเป็นสิ่งดีงามที่ได้รับการยอมรับยกย่องในทุกสังคมและทุกวัฒนธรรม
บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าชื่อเสียงอันดีงามที่สร้างสมมาอย่างยาวนานในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตนั้นเป็นทรัพย์สินอันประเมินค่ามิได้ขององค์กร และเพื่อให้การปฏิบัติตามหลักการตามนโยบายในมาตรฐานการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม บริษัทฯ ได้กำหนดโปรแกรมและแนวปฏิบัติ
การปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน
นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชันของบริษัทฯ นั้นอิงตามมาตรฐานระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานอันเข้มงวดในเรื่องนี้ของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป บริษัทฯ ถือใช้นโยบายและแนวปฏิบัตินี้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจตลอดมา อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้ประกาศใช้นโยบายและแนวปฏิบัติเหล่านี้อย่างเป็นทางการในปี 2554 และ 2555 โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติรับรองให้นโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชันเป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักเพิ่มเข้าในคู่มือมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 เพื่อให้ชัดแจ้งแก่พนักงาน คู่ค้า ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2555 ท่านประธานคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติเห็นชอบต่อแนวปฏิบัติรวมของบริษัทฯ เพื่อการต่อต้านการคอร์รัปชัน ซึ่งใช้เป็นฐานในการกำหนดกรอบปฏิบัติให้สามารถใช้ปฏิบัติตามได้ในการทำงานของทุกหน่วยงาน กรอบปฏิบัตินี้มี 6 องค์ประกอบสำคัญได้แก่
โดยแต่ละองค์ประกอบของกรอบปฏิบัติดังกล่าวกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องกำกับดูแล ดังต่อไปนี้
- แสดงภาวะผู้นำให้เป็นที่ประจักษ์ชัด รวมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารการต่อต้านการคอร์รัปชัน
- ประเมินทุกธุรกิจในทุกขั้นตอนการทำงานของบริษัทฯ ว่าขั้นตอนใดอาจเสี่ยงต่อการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน สอบทานการประเมิน และหารือกับฝ่ายกฎหมายตามที่จำเป็น และหามาตรการหรือวิธีการที่เหมาะสมเพื่อกำจัดหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
- จัดให้มีระบบควบคุมภายใน ขั้นตอนวิธีการในการตรวจสอบและป้องกันการคอร์รัปชัน
- สื่อสารเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัทในเรื่องกับการต่อต้านการคอร์รัปชันให้แก่พนักงานอย่างเพียงพอ
- จัดฝึกอบรมเรื่องกฎหมายข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอโดยครอบคลุมถึงกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชันของสหรัฐอเมริกา (the US Foreign Corrupt Practices Act (FCPA)) กฎหมายต่อต้านการรับสินบนของประเทศอังกฤษ (United Kingdom Bribery Act) และกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันของไทย เพื่อให้พนักงานทุกคนเกิดความเข้าใจและการปฏิบัติถูกต้องตรงกัน
- จัดให้มีการตรวจสอบทั้งโดยฝ่ายตรวจสอบภายในและการตรวจสอบเพื่อประเมินตนเองให้แน่ใจว่ามีกระบวนการบังคับใช้เพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานทางจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ อย่างมีระบบและแบบแผน
แนวปฏิบัติเหล่านี้ ประกอบไปด้วยคำอธิบาย ข้อกำหนด กติกา และวิธีปฏิบัติที่ใช้ได้จริงอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถบรรลุเจตนารมณ์แห่งนโยบายของบริษัทฯ ได้ และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกรณีที่อาจมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ระหว่างประโยชน์ของบริษัทฯ และของเจ้าหน้าที่รัฐหรือของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยชัดแจ้งหรืออาจแม้เพียงทำให้เกิดภาพลักษณ์
อันอาจไม่เหมาะสมซึ่งก่อให้เกิดข้อครหาได้ ในเรื่องการป้องกันการคอร์รัปชัน นโยบายและแนวปฏิบัติเหล่านี้ของบริษัทฯ มุ่งส่งเสริมความโปร่งใส ความซื่อตรงของหน่วยงานทุกหน่วยในบริษัทฯ ไม่มีข้อยกเว้นตัวอย่างเช่น แนวปฏิบัติการให้หรือรับของขวัญและการเลี้ยงรับรองซึ่งได้ให้คำนิยามและกำหนดขอบเขตเรื่องของขวัญและการเลี้ยงรับรองไว้อย่างชัดเจน รวมถึงขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติในการสอบทานและการอนุมัติโดยลำดับผู้มีอำนาจในการพิจารณาการให้หรือรับของขวัญและการเลี้ยงรับรอง รวมถึงการพิจารณาบริบทของธุรกิจและประเพณีที่ยอมรับโดยทั่วไปให้รับหรือให้ของขวัญและการเลี้ยงรับรอง หรือตัวอย่างเรื่องแนวปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐก็ได้มีการให้คำนิยามความหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และการเป็นเจ้าภาพที่เสนอหรือจัดให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีข้อกำหนดลำดับชั้นในการสอบทานและการอนุมัติไว้อย่างชัดเจน แนวปฏิบัตินี้ได้กำหนดข้อห้ามอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงการห้ามให้ของขวัญเป็นเงินสดหรือสิ่งอื่นที่เทียบเท่าเงินสด รวมทั้งการห้ามจ่ายเงินหรือสิ่งของหรือการตอบแทนในรูปแบบใดๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้อำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีกระบวนการขั้นตอนสอบทานและอนุมัติที่สูงขึ้น เข้มงวดมากขึ้นในเรื่องการเป็นเจ้าภาพและการจัดการเลี้ยงรับรองที่หรูหราและมีราคาแพงให้แก่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐ
การกระทำที่ไม่สุจริตหรือฝ่าฝืนข้อกำหนดของกฎหมายหรือละเมิดต่อนโยบายหรือขัดต่อระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ จะถูกลงโทษทางวินัยซึ่งสูงสุดอาจถึงขั้นเลิกจ้าง ไม่มีพนักงานหรือบุคคลใดในบริษัทฯ มีสิทธิหรือมีอำนาจที่จะไม่ปฏิบัติหรือสั่งการให้ผู้อื่นไม่ปฏิบัติหรือผ่อนผันให้ไม่ต้องปฏิบัติตามนโยบายหลักอันเป็นมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจได้
บริษัทฯ ยังได้ขยายการบังคับใช้มาตรฐานจรรยาบรรณทางธุรกิจนี้ถึงผู้รับเหมาและบุคคลภายนอกซึ่งทำการในนามของบริษัทฯ ด้วย โดยบุคคลเหล่านี้ต้องไม่ทำการใดๆ เพื่อจ่ายเงิน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ทำการ หรือไม่ทำการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อเป็นหรือเอื้อประโยชน์แก่บริษัทฯ อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ข้อตกลงและสัญญาทางธุรกิจที่ทำกับบริษัทฯ จะมีข้อกำหนดให้คู่ค้า ผู้รับเหมาต้องมีการลงบันทึกบัญชีอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา และมีข้อผูกมัดว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนด้วย